วัคซีน HPV ปกป้องทุกเพศ ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง
การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ถือเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งหลายชนิด และวัคซีน HPV นี้สามารถฉีดได้ทุกเพศ โดยแนะนำให้เริ่มฉีดตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป เพื่อให้ร่างกายได้รับภูมิคุ้มกันและป้องกันเชื้อไวรัสก่อนมีการสัมผัสเชื้อจริง ซึ่งการฉีดวัคซีนในวัยเด็กหรือวัยรุ่นจะทำให้มีประสิทธิภาพสูง
วัคซีน HPV ไม่เพียงแค่ป้องกันเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็ง แต่ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในเรื่องสุขภาพในระยาวอีกด้วย การฉีดวัคซีนจึงเป็นการลงทุนในอนาคตที่คุ้มค่า เพราะช่วยลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้
รู้จักกับเชื้อ HPV
เชื้อ HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ HPV แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และมีสายพันธุ์ย่อยมากกว่า 150 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่พบบ่อยและมีความเสี่ยงสูงคือ สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นต้นเหตุของมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งชนิดอื่นๆ ในเพศหญิง
สาเหตุของการติดเชื้อ
การติดเชื้อ HPV ในทั้งเพศชายและเพศหญิงมักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก นอกจากนี้ การสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น ผ้าเช็ดตัว สบู่ หรืออ่างอาบน้ำ ก็สามารถเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้เช่นกัน
ใครบ้างที่เสี่ยงติดเชื้อ
ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถติดเชื้อ HPV ได้ หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ หรือใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ทารกยังมีโอกาสติดเชื้อจากมารดาได้อีกด้วย
ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
นอกเหนือจากการสัมผัสทางเพศสัมพันธ์หรือสิ่งของปนเปื้อนเชื้อ HPV ยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่อาจทำให้การติดเชื้อ HPV ง่ายขึ้น คือ
- การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- การมีคู่นอนหลายคน
- การสูบบุหรี่
- ภาวะโรคอ้วน
- ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ความแตกต่างของการติดเชื้อ HPV ระหว่างเพศชายและเพศหญิง
ถึงจะทราบกันดีว่าเพศชายสามารถติดเชื้อไวรัส HPV ได้เช่นเดียวกับเพศหญิง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงไม่แพ้กัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างบางประการที่ทำให้การติดเชื้อในเพศชายมีความเป็นห่วงมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การติดเชื้อในเพศชายมีจำนวนผู้ป่วยที่ไม่ลดลงตามอายุ ต่างจากเพศหญิงที่อัตราการติดเชื้อ HPV มักจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น การติดเชื้อในเพศชายกลับไม่มีแนวโน้มลดลงตามวัย ทำให้ยังคงเสี่ยงต่อการติดเชื้อตลอดชีวิต
- ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของเพศชายต่ำกว่า เมื่อเพศชายติดเชื้อ HPV ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสนั้นต่ำกว่าเพศหญิง ซึ่งหมายความว่าเพศชายยังคงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อซ้ำ แม้จะเคยติดเชื้อและฟื้นตัวแล้วก็ตาม
- เพศชายมีโอกาสติดเชื้อหลายสายพันธุ์ ไม่ต่างจากเพศหญิง เพศชายสามารถติดเชื้อ HPV ได้จากหลายสายพันธุ์ ซึ่งบางสายพันธุ์สามารถนำไปสู่การเกิดโรคที่รุนแรง เช่น มะเร็งทวารหนัก มะเร็งลำคอ และมะเร็งองคชาติ
- ไม่มีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HPV ในเพศชาย ในขณะที่เพศหญิงมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพื่อค้นหาการติดเชื้อ HPV แต่สำหรับเพศชายยังไม่มีมาตรการคัดกรองเฉพาะ ทำให้การวินิจฉัยโรคและการรักษามักเกิดขึ้นเมื่ออาการลุกลามไปแล้ว
อาการของการติดเชื้อ HPV ในเพศชาย
- หูดหงอนไก่ หลังติดเชื้อ HPV ไม่กี่สัปดาห์ ผู้ชายอาจเริ่มมีอาการคัน พร้อมกับพบเนื้อนูนๆ ที่ผิวนหัง ตะปุ่มตะป่ำคล้ายหงอนไก่ หรือดอกกะหล่ำปลี บริเวณอวัยวะเพศ ปลายองคชาติ ผิวหนังรอบอัณฑะ และทวารหนัก และหูดยังสามารถปรากฏในช่องปาก กระพุ้งแก้ม และลำคอ ซึ่งทำให้เคืองคอ มีเสมหะมาก น้ำลายเยอะ และกลืนอาหารลำบากหากหูดโตขึ้น
- มะเร็งช่องปากและลำคอ อาการที่พบบ่อยคือ เจ็บคอเรื้อรัง ปวดหู ไอ เสียงแหบ กลืนอาหารลำบาก น้ำหนักลงโดยไม่ทราบสาเหตุ และอาจคลำพบก้อนผิดปกติในปากหรือลำคอ
- มะเร็งทวารหนัก มะเร็งชนิดนี้มักไม่แสดงอาการชัดเจน แต่บางคนอาจสังเกตเห็นอาการ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต อุจจาระปนเลือด คัน หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ น้ำเหลืองไหลร่วมด้วย รวมถึงอุจจาระมีขนาดเล็กลงและท้องผูกบ่อยขึ้น
- มะเร็งองคชาติ ในระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการชัดเจน แต่เมื่อเริ่มแสดงอาการ จะสังเกตได้ดังนี้ พบก้อนหรือแผลบริเวณองคชาต มักเป็นแผลเรื้อรังที่ไม่หาย หรือบางครั้งมีเลือดหรือหนองออกมา ผิวบริเวณองคชาติอาจหนาขึ้นหรือมีการเปลี่นนสี เป็นรอยแดงหรือรอยขาว มีอาการเจ็บ คัน หรือระคายเคืองบริเวณที่เกิดก้อนหรือแผล อาจคลำพบก้อนบริเวณขาหนีบหรือต่อมน้ำเหลืองโต ในบางรายอาจมีอาการบวมขององคชาติ หรือปลายองคชาติ
ใครบ้างที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV
วัคซีน HPV มีบทบาทสำคัญในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ทั้งเพศหญิงและเพศชายควรฉีดตั้งแต่อายุระหว่าง 9-26 ปี และสามารถขยายช่วงอายุได้ถึง 45 ปี เนื่องจากในช่วงวัยนี้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด และเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของวัคซีน HPV ควรได้รับในวัยที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน เพื่อให้วัคซีนสามารถป้องกันเชื้อได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้การฉีดวัคซีนจะต้องครบตามกำหนดโดยแต่ละเข็มจะต้องเว้นระยะห่างกันตามคำแนะนำทางการแพทย์เพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด
ในกลุ่มอายุ 27-45 ปี ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน สามารถเข้ารับวัคซีนได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์ของการฉีดวัคซีนในช่วงอายุนี้ เนื่องจากการป้องกันอาจไม่เต็มที่เท่ากับกลุ่มอายุน้อยกว่า เนื่องจากมีโอกาสเคยติดเชื้อ HPV มาแล้ว
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่นๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ
Website : https://www.bpksamutprakan.com/
Facebook : https://www.facebook.com/Bangpakoksamutprakan
LINE Official Account : https://lin.ee/7EFV8ra