Bangpakok Hospital

เช็ก 8 อาการ สัญญาณเสี่ยงความดันต่ำ

25 ต.ค. 2565


เช็ก 8 อาการ สัญญาณเสี่ยงความดันต่ำ

ความดันโลหิตต่ำเป็นภัยต่อสุขภาพที่ใครหลายๆ คนอาจมองข้าม ซึ่งผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ มักจะคิดว่าไม่มีปัญหาใด แต่ในความจริงแล้วทั้งความดันโลหิตสูงและความดันโลหิตต่ำ ต่างมีความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน

ภาวะความดันโลหิตต่ำ มักไม่มีสัญญาณเตือน และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ และทุกวัย เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต 

ดังนั้นการตรวจเช็กสุขภาพประจำปีถือเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อมีสัญญาณผิดปติ ควรเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อเข้ารับการรักษาที่ตรงจุด

ภาวะความดันโลหิตต่ำ

ดันโลหิตต่ำ คือ ภาวะที่ความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ หรือต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท โดยภาวะความดันโลหิตต่ำสามารถเกิดได้กับทุกช่วงอายุ ซึ่งมีหลายสาเหตุที่สามารถนำไปสู่ภาวะความดันต่ำได้

 

สาเหตุของการเกิดภาวะความดันต่ำ

  • สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะความดันโลหิตต่ำ คือ ภาวะขาดสารอาหาร โดนเฉพาะโปรตีน วิตามินซี วิตามินบี จึงทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ผนังหลอดเลือดแดงไม่แข็งแรงและคลายตัวมากเกินไป
  • เกิดจากการสูญเสียโลหิตแบบกะทันหัน เช่น อุบัติเหตุ หรือการสูญเสียโลหิตแบบเรื้อรัง เช่น บาดแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือไต
  • การลุกนั่งกะทันหัน หรือก้มเงยศีรษะอย่างรวดเร็ว ทำให้ความดันที่จะไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างรวดเร็ว
  • มีการใช้ยาเช่น ยาความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ หรือยากล่อมประสาท
  • มีโรคประจำตัว หรืออยู่ในภาวะที่ความดันร่างกายผิดปกติ เช่น ตั้งครรภ์ โรคโลหิตจาง โรคหัวใจ โรคพาร์กินสัน
  • ภาวะขาดน้ำ เช่น อาเจียน ท้องเสีย

อาการของความดันโลหิตต่ำ

  • คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม 
  • ตาพร่า มองเห็นภาพไม่ชัด
  • ใจสั่น ใจเต้นแรงไม่สม่ำเสมอ
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย 
  • หายใจลำบาก แน่นหน้าอก
  • กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย
  • มือเท้าเย็น ผิวซีด หนาวสั่น
  • ระบบย่อยอาหารผิดปกติ

 

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะความดันโลหิตต่ำอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยจนถึงปัญหาทางการแพทย์ที่ร้ายแรง ผู้ที่มีความดันต่ำอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น การล้ม เนื่องจากอาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง เป็นลม ภาวะความดันโลหิตต่ำที่รุนแรงอาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนทำให้หัวใจ สมอง หรืออวัยวะต่างๆ เกิดความเสียหาย และอาจนำไปสู่การเสียชีวิต

 

การดูแลร่างกาย

  • พักผ่อนให้เพียงพอ หากนอนหลับไม่เพียงพอทำให้ความดันโลหิตต่ำลง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการนอนดึก และไม่ควรนอนหมอนที่ต่ำเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ หรือการเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็วเกินไป
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ระบบประสาทเกิดความสมดุล หลอดเลือดหัวใจแข็งแแรง และช่วยรักษาความดันต่ำให้ดีขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าให้ครบ 5 หมู่
 
ติดตามช่องทางออนไลน์อื่นๆ ของโรงพยาบาลบางปะกอกสมุทรปราการ
Website : https://www.bpksamutprakan.com/
Facebook : https://www.facebook.com/Bangpakoksamutprakan

LINE Official Account : https://lin.ee/7EFV8ra

Go to top
Copyright © 2021 Bangpakok Hospital All rights reserved.